“ก๊อปปี้” หรือทำสำเนาภาพถ่ายที่คนอื่นทำขึ้นแล้วเอามาใช้กับสินค้าของตัวเอง ทำได้หรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกา 5422/2561
หากมีเรื่องทุกข์ร้อนใจ ทุกปัญหามีทางออก
ปรึกษากฎหมาย
โทร 02-194-4707 , 095-169-9998
หรือสามารถส่งข้อความที่ต้องการสอบถาม มายังไลน์ (Line) เพียงกดเพิ่มเพื่อน ด้านล่างนี้ได้เลย
คำพิพากษาฎีกาที่ 5422/2561
งานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทศิลปกรรมที่มีลักษณะเป็นงานภาพถ่ายนั้น พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 มาตรา 4 ได้บัญญัติความหมายไว้มีใจความว่างานภาพถ่าย ได้แก่ งานสร้างสรรค์ภาพที่เกิดจากการใช้เครื่องมือบันทึกภาพโดยให้แสงผ่านเลนส์ไปยังฟิล์มหรือกระจกและล้างด้วยน้ำยาซึ่งมีสูตรเฉพาะหรือด้วยกรรมวิธีใด ๆ อันทำให้เกิดภาพขึ้นหรือการบันทึกภาพโดยเครื่องมือหรือวิธีการอย่างอื่น ทั้งนี้ไม่ว่างานภาพถ่ายนั้น จะมีคุณค่าทางศิลปะหรือไม่ และให้ความหมายรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย ดังนี้ ตามบทบัญญัติดังกล่าว งานภาพถ่ายที่สร้างสรรค์ขึ้นมานั้น ไม่ว่าจะมีคุณค่าทางศิลปะหรือไม่ ก็ถือได้ว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทศิลปกรรม ภาพที่เกิดจากการใช้เครื่องมือบันทึกภาพหรือการถ่ายภาพซึ่งการถ่ายภาพจนทำให้เกิดมีภาพดังกล่าวขึ้นมานั้น ถือได้ว่าเป็นการริเริ่มสร้างสรรค์ภาพโดยมีการใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ตามสมควรแก่ลักษณะงานภาพถ่ายนั้นอาจเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทศิลปกรรม ที่มีลักษณะเป็นงานภาพถ่ายตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
โจทก์ได้นำภาพที่โจทก์จัดทำขึ้นมาใช้ประโยชน์ทางการค้า ในนามแบรนด์เครื่องสำอางซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าว่า “ charisny”โดยใช้ในการโฆษณาออกทางสื่อต่างๆ จำเลยทำซ้ำหรือดัดแปลงซึ่งภาพโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ แล้วจำเลยและผู้สั่งผลิตสินค้ากับจำเลยนำภาพที่ทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ประกอบการวิจารณ์ (รีวิว) ผลการใช้สินค้าประเภทเครื่องสำอางของจำเลยและของผู้สั่งผลิตภัณฑ์สินค้ากับจำเลยในสื่อสังคมออนไลน์ในโปรแกรมที่ใช้ชื่อว่า Facebook เพื่อให้ประชาชนผู้พบเห็นข้อความใน Facebook เข้าใจว่ารูปภาพของโจทก์เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ของจำเลยหรือของผู้สั่งผลิตภัณฑ์สินค้ากับจำเลย ทั้งนี้จำเลยเป็นผู้อนุญาตให้ผู้สั่งผลิตภัณฑ์สินค้ากับจำเลยสามารถใช้ภาพที่จำเลยทำซ้ำหรือดัดแปลงประกอบในการวิจารณ์ (รีวิว) ผลการใช้สินค้าประเภทเครื่องสำอางของผู้สั่งสินค้ากับจำเลยนั้น อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 4 (1) ที่แก้ไขใหม่ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตรวจฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่า ภาพตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องไม่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์และการกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (เดิม) และพิพากษายกฟ้องของโจทก์โดยยังไม่ได้ทำการไต่สวนมูลฟ้อง จึงเป็นการไม่ชอบ
สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เรื่องการ copy “ภาพถ่าย” จะเกี่ยวข้องกับกฎหมายเรื่อง “ลิขสิทธิ์” เพราะเป็นงานลักษณะหนึ่งที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองไว้ด้วย เพราะความคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “คุณค่าทางศิลปะ” ของภาพถ่ายนั้นว่าจะมีความสวยงาม ดูแล้วน่าชื่นชมมากน้อยเพียงใด เพราะว่าคุณค่าทางศิลปะและความสวยงามนั้นมักเป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนตัว ที่แตกต่างกันออกไป ภาพที่คนหนึ่งมองว่าสวย อีกคนอาจบอกว่าดูแล้วไม่เห็นจะมีอะไรก็ได้
การถ่ายภาพที่ทุกวันนี้แทบทุกคนมี “กล้อง” พกพาติดตัว ทุกครั้งที่เราหยิบกล้องมาถ่าย อย่างน้อยเราก็ต้องตัดสินใจ "เลือกมุมกล้อง" ว่าจะถ่ายจากมุมใดภาพจึงจะออกมาตามที่ต้องการ จะมากจะน้อยการถ่ายภาพจึงมีการใช้กำลังความสามารถของเราไปทำให้เกิดภาพถ่ายนั้นขึ้นมา แม้อาจจะไม่มากนัก แต่ก็เป็นไปตามลักษณะของการถ่ายภาพที่การทำเพียงแค่นั้นก็ทำให้เกิดภาพถ่ายได้แล้ว ทำให้ “ภาพถ่าย” ที่ไม่ว่าจะสวยงามหรือไม่ก็ตามก็เป็นสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ด้วยอย่างหนึ่ง
การที่จำเลยนำภาพของโจทก์ไปประกอบในเว็บไซต์ facebook ในลักษณะที่จะสื่อว่าหากใช้ผลิตภัณฑ์ของจำเลยแล้วจะได้ผลตามที่ปรากฏในภาพนั้น ทั้ง ๆ ที่ความจริงลูกค้าที่ปรากฏในภาพเป็นลูกค้าของโจทก์และการที่ได้ผลผิวพรรณเปล่งปลั่งเป็นเพราะการใช้สินค้าของโจทก์ ไม่ได้เกิดจากการใช้สินค้าของจำเลย อย่างที่จำเลยพยายามโฆษณา
เมื่อจำเลยนำรูปภาพของโจทก์ที่จำเลยcopyไปใช้ จึงเข้าข่ายตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็น การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ถือเป็นความผิดอีก 1 กระทง