ผู้รับเหมาที่ไม่จบวิศวกรรม อาจถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ได้คำพิพากษาฎีกา10823/2551
หากมีเรื่องทุกข์ร้อนใจ ทุกปัญหามีทางออก
ปรึกษากฎหมาย
โทร 02-194-4707 , 095-169-9998
หรือสามารถส่งข้อความที่ต้องการสอบถาม มายังไลน์ (Line) เพียงกดเพิ่มเพื่อน ด้านล่างนี้ได้เลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10823/2551
ป.อ. มาตรา 227
ตาม ป.อ. ไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่า ผู้มีวิชาชีพ ไว้จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึง อาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญ ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึง วิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น วิชาแพทย์ วิชาช่างไม้ วิชาช่างยนต์ และคำว่า วิชา พจนานุกรมทั้งสองฉบับให้ความหมายว่า ความรู้ ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน ดังนั้น คำว่า "ผู้มีวิชาชีพ" จึงหมายถึง ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญหรือผู้ที่มีความรู้ซึ่งอาจได้จากการเล่าเรียนโดยตรงหรือจากการทำงานอันเป็นการฝึกฝนในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระก็ได้ ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 227 จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ได้เล่าเรียนมาโดยตรงเพื่อเป็นสถาปนิก วิศวกร หรือโฟร์แมน (หัวหน้าคนงาน) บริษัทจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการเพียงคนเดียว ในการรับเหมาก่อสร้างบ้านให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ทำการแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมาตั้งแต่ก่อนทำสัญญารับเหมาก่อสร้างและรับผิดชอบการก่อสร้างในฐานะเป็นเจ้าของกิจการบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นผู้ทำการแก้ไขแบบแปลนการก่อสร้างเพื่อให้การก่อสร้างเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ดังนี้แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้จบการศึกษาทางด้านการก่อสร้างอาคารก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 มีความรู้ความชำนาญและใช้ความรู้ด้านการก่อสร้างในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระ จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 227
___________________________
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ประกอบมาตรา 83, 84, 86 และ 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 ให้ประทับฟ้อง จำเลยอื่นให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 ด้วย นอจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 6 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวสำหรับจำเลยที่ 6
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 10,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ใช้ค่าปรับแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 8
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
- ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นนี้คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 หรือไม่ ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่า ผู้มีวิชาชีพ ไว้จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึง อาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญ ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึงวิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น วิชาแพทย์ วิชาช่างไม้ วิชาช่างยนต์ และคำว่า วิชา พจนานุกรมทั้งสองฉบับให้ความหมายว่า ความรู้ ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน ดังนั้น คำว่า ผู้มีวิชาชีพ จึงหมายถึงผู้มีอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญหรือผู้ที่มีความรู้ซึ่งอาจได้จากการเล่าเรียนโดยตรงหรือจากการทำงานอันเป็นการฝึกฝนในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระก็ได้ ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของมาตรานี้จึงหาได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ได้เล่าเรียนมาโดยตรงเพื่อเป็นสถาปนิก วิศวกร หรือโฟร์แมน (หัวหน้าคนงาน)
- ดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัทจำเลยที่ 1 มีกรรมการเพียงคนเดียวคือจำเลยที่ 3 ในการรับเหมาก่อสร้างบ้านให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น จำเลยที่ 3 เป็นผู้ทำการแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมาตั้งแต่ก่อนการทำสัญญารับเหมาก่อสร้าง และรับผิดชอบการก่อสร้างในฐานะเป็นเจ้าของกิจการบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นผู้กระทำการแก้ไขแบบแปลนการก่อสร้างเพื่อให้การก่อสร้างเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ดังนี้ แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้จบการศึกษาทางด้านการก่อสร้างอาคาร ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 มีความรู้ความชำนาญและใช้ความรู้ด้านการก่อสร้างในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระ จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน